http://www.chemistry.sc.chula.ac.th/Safety/safety_letter_01_2556_files/image001.png

ฉบับที่ 2/2557 โดยคณะกรรมการจัดการความปลอดภัยภาควิชาเคมี

 

สวัสดีอาจารย์และนิสิตเคมีทุกท่าน

          ตามที่คณะกรรมการความปลอดภัยภาควิชาเคมี ได้แจ้งให้ทุกห้องปฏิบัติการทำแบบสำรวจห้องปฏิบัติการ (ESPReL checklist) มาระยะหนึ่งแล้วนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2557  ทางคณะทำงานของโครงการ ESPReL ได้จัดการอบรมเพื่อแนะนำวิธีการกรอกเข้าระบบ และตอบข้อซักถามในประเด็นที่สงสัย ณ ห้องเรียนรู้เคมีด้วยตนเอง ชั้น 11 ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากห้องปฏิบัติการต่างๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วมอบรมเป็นอย่างดี ทางคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือของทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วย หากห้องปฏิบัติการใดยังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่เสร็จขอให้เร่งมือด้วยเพราะคณะวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าว่าเราจะทำให้ได้ 100% เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ท่านรีบทำ  เราจะรับบริการกำจัด waste ผ่านระบบ wastetrack เฉพาะห้องปฏิบัติการที่ทำ checklist มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา (โปรดแสดงหลักฐานเมื่อตอนนำใบแจ้งรายการ waste มาส่ง)

          จากจดหมายข่าวฉบับที่ผ่านมา (ฉบับที่ 1/2557)  ทางคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ได้แจ้งให้ทราบถึงอุบัติเหตุซึ่งเกิดจากการจัดเก็บน้ำแข็งแห้งไว้ในกระติกที่ปิดฝาเกลียว แล้วทิ้งไว้ในตู้เย็นแม้ว่าจะปิดไว้อย่างหลวมๆ แต่เมื่อน้ำแข็งแห็งระเหิดจนเกิดความดันภายใน ทำให้ฝาเกลียวปีนเกลียวจนเปิดไม่ออก แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมาก็ยังเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ซ้ำขึ้นมาอีก โดยในครั้งนี้ฝากระติกน้ำแข็งถึงกับระเบิดออกมาจนแตกขณะที่ยังอยู่ในตู้ freezer แต่ว่ายังเคราะห์ดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ดังนั้นจึงขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่าการเก็บน้ำแข็งแห้งใส่กระติกห้ามใช้กระติกแบบฝาเกลียว ควรใช้แบบฝาแปะเหมือนกระติกน้ำแข็งทั่วไป หรือใช้ฝาแบบที่ระบายความดันได้ หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์อุดไว้หลวมๆ

https://fbcdn-sphotos-h-a.akamaihd.net/hphotos-ak-xpf1/v/t34.0-12/10443784_809449189066323_828452231_n.jpg?oh=a90d197ca6b665dc44cc38af6064a057&oe=53A72FD6&__gda__=1403480523_fc4684241b1046906742dee3006030bf

สภาพของกระติกน้ำแข็งแบบฝาเกลียวที่ใช้บรรจุน้ำแข็งแห้ง แล้วเกิดการระเบิดออกครั้งล่าสุด

 

         เรื่องต่อไปที่ทางคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ต้องการนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ คือ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุการระเบิดของสารเคมี ณ ห้องปฏิบัติการภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมินเนสโซตา (University of Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยเกิดจากการใช้สารเคมี trimethylsilyl azide (TMSN3) ซึ่ง TMSN3 เป็นสารเคมีที่ว่องไวต่อปฏิกิริยาใช้กันทั่วไปในห้องปฏิบัติการเคมีสังเคราะห์ แต่ไม่ระเบิดด้วยตัวมันเอง หากแต่ว่าทำปฏิกิริยากับความชื้นจะผลิตแก๊ส hydrazoic acid (HN3) ซึ่งเป็นพิษและว่องไวต่อการระเบิด โดยเฉพาะเมื่อทำปฏิกิริยากับโลหะก็จะเกิดปฏิกิริยาคายความร้อนและระเบิดอย่างรุนแรง โดยเหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้ผู้ทดลองถูกไฟลวกและถูกเศษแก้วซึ่งเกิดจากการระเบิดบาด โดยคาดว่าอุบัติเหตุน่าจะเกิดจากการผู้ทำการทดลองทำปฏิกิริยาเคมีในปริมาณมาก (large scale) และก็มิได้ศึกษาความเป็นอันตรายของสารเคมีที่ใช้อย่างถี่ถ้วน

https://scontent-b-sin.xx.fbcdn.net/hphotos-xfp1/t1.0-9/10464026_10152490455985638_871439646022379230_n.jpg

สภาพตู้ดูดควันที่เกิดอุบัติเหตุระเบิด ณ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยมินเนสโซตา USA

 

          ดังนั้นในอนาคต หากนิสิตต้องทำการทดลองโดยใช้สารเคมีที่ตนเองยังไม่คุ้นเคย หรือเป็นปฏิกิริยาชนิด large scale นิสิตต้องศึกษารายละเอียดและความเป็นอันตรายของสารเคมีเหล่านั้นอย่างถี่ถ้วน เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ขึ้น

 

                                                                             คณะกรรมการจัดการความปลอดภัย

                                                                                      กันยายน 2557