ฉบับที่ 2/2556 โดย คณะกรรมการจัดการความปลอดภัยของภาควิชาเคมี

 

สวัสดีอาจารย์และนิสิตเคมีทุกท่าน

          เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการความปลอดภัยได้เชิญ รศ.ดร. วราพรรณ ด่านอุตรา และทีมงานจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาฯ มาบรรยายเรื่องเกี่ยวกับโครงการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการวิจัยในประเทศไทย โดยมีตัวแทนหน่วยวิจัยต่างๆเข้ารับการอบรม และมีช่วงหนึ่งที่ รศ.ดร. วราพรรณ กล่าวไว้ให้พวกเราชาวเคมีได้คิดก็คือ "ห้องปฏิบัติการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่เป็นรองมหาลัยใดๆในประเทศไทย....ในเรื่องความไม่ปลอดภัยของห้องปฏิบัติการเช่นกัน" ได้ยินอย่างนี้แล้ว (ตอนแรกนึกว่าจะเป็นคำชม) คงเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวเคมี ที่ต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้สูงมากกว่าที่เป็นอยู่  

          ขณะนี้การสอบปลายก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว นิสิตใหม่หลายๆคน (บัณฑิตศึกษา และปี 4) ก็ตั้งตารอเพื่อที่จะให้ปิดเทอมเร็วๆ เพื่อจะได้เข้าทำแลปในช่วงเดือนตุลาคมเสียที (เย้ๆๆ) หลังจากที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือและแอบเฝ้ามองรุ่นพี่ทำแลปด้วยความอิจฉา…. ทางคณะกรรมการจึงมีเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัย มาเน้นย้ำกับนิสิตใหม่ที่กำลังจะเข้าทำแลป (รวมถึงนิสิตปัจจุบันที่ทำแลปอยู่ด้วย)  เรื่องที่จะมาคุยกันก็คือ เรื่องการใส่แว่นตานิรภัยในห้องแลป ซึ่งจริงๆแล้ว เราคิดว่านิสิตทุกคนทราบกันอยู่แล้วว่า จำเป็น ต้องใส่แว่นตานิรภัย (เพราะกรรมการความปลอดภัยอาจมาพบโดยบังเอิญ แล้วถูกจดชื่อได้) แต่ว่าก็เห็นกันอยู่บ่อยครั้งว่า นิสิตหลายคนละเลย เพราะคิดว่า ...เราไม่ได้ทำการทดลองที่อันตราย,  ...เข้าไปทำการทดลองแป๊บเดียวเอง,  ....แว่นตานิรภัยใส่แล้วมึนหัว แม้ว่าข้ออ้างดังกล่าวข้างต้นเป็นความจริง แต่ว่าไม่สามารถที่จะใช้เป็นข้อยกเว้นในการไม่ใส่แว่นตานิรภัยในห้องแลปได้ ทางคณะกรรมการความปลอดภัยจึงอยากจะเล่าเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับ “คนดัง” สักเรื่องหนึ่งไว้เป็นอุทาหรณ์

          Professor K. Barry Sharpless ณ สถาบัน The Scripps Research Institute, USA ถ้าเอ่ยชื่อนี้ หลายๆคนคงต้องร้อง...อ๋อ เพราะเคยได้ใช้บริการปฏิกิริยา click chemistry อันโด่งดังของปรมจารย์ท่านนี้มาแล้ว และมากกว่านั้น หลายคนในสาขา organic chemistry อาจเคยได้ทำปฏิกิริยา Sharpless epoxidation อันลือชื่อ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำให้ Professor Sharpless ได้รับรางวัลโนเบลทางเคมีในปี 2001 ว่าแต่แล้ว Professor Sharpless มาเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องการสวมแว่นตานิรภัยในห้องแลปล่ะนี่!  กรรมการความปลอดภัยต้องขอบอกว่าเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน เพราะว่ามีใครทราบหรือไม่ว่า Professor Sharpless ตาบอดข้างหนึ่ง เนื่องจากอุบัติเหตุในห้องแลป และที่สำคัญตอนนั้น Professor Sharpless ไม่ได้ใส่แว่นตานิรภัย!!!

                                         http://www.ust.hk/eng/news/photos/20071020-540_3z.jpg        K. Barry Sharpless and His Majesty the King

                     Professor K. Barry Sharpless ขณะรับรางวัลโนเบลทางเคมีเมื่อปี 2001

       http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/chemistry/laureates/2001/sharpless-photo.html

 

          เรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ ต้องย้อนไปเมื่อปี 1970 ซึ่งขณะนั้น Professor Sharpless ยังเป็นอาจารย์หนุ่มไฟแรงอยู่ที่ MIT โดยปกติ Professor Sharpless จะใส่แว่นตานิรภัยตลอดเวลาเมื่ออยู่ในห้องแลป แต่วันที่เกิดเหตุเป็นช่วงที่ Professor Sharpless กำลังเตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน แต่ก่อนกลับ ก็เดินผ่านไปเห็นนักศึกษาคนหนึ่งกำลังใช้เปลวไฟลนปิดปาก (seal) หลอดNMR ที่จุ่มอยู่ในไนโตรเจนเหลว  หลังจากที่นักศึกษาปิดหลอดสำเร็จ  Professor Sharpless จึงยกหลอดนั้นขึ้นส่องกับหลอดไฟเพื่อดูความเรียบร้อย วินาทีนั้นเองที่เขาเห็นความผิดปกติเกิดขึ้นคือ ระดับของเหลวในหลอดNMR ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเขาทราบทันทีว่าเกิดจากการที่ก๊าซออกซิเจนในบรรยากาศซึ่งก่อนหน้านี้ถูกควบแน่นเป็นของเหลวอยู่ในหลอดNMR (ช่วงที่จุ่มหลอดอยู่ในไนโตรเจนเหลว) ได้ระเหยกลับกลายเป็นก๊าซอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก่อนที่ Professor Sharpless จะหลบได้ทัน หลอด NMR ที่ปิดปากหลอดนั้น ก็ได้ระเบิดขึ้นตรงหน้า ทำให้เศษแก้วจากหลอด NMR กระเด็นเข้าไปในตาข้างหนึ่งและทำให้ตาข้างนั้นบอดจนถึงปัจจุบัน  หลังจากอุบัติเหตุวันนั้น Professor Sharpless ได้กล่าวไว้ให้เป็นข้อคิดว่า  "There's simply never an adequate excuse for not wearing safety glasses in the laboratory at all times."  (ไม่มีข้ออ้างใดๆ เพียงพอ สำหรับการไม่ใส่แว่นตานิรภัยให้ห้องแลป)

          เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจอย่างดีเยี่ยมว่า ปรมจารย์ระดับรางวัลโนเบลทางเคมี ซึ่งน่าจะทราบอย่างดีว่าการทดลองใดมีความเป็นอันตรายสูงและอันใดเป็นอันตรายต่ำ ก็ยังพลาดได้ แล้วนิสิตน้อยๆแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แน่ใจแล้วเหรอที่คิดว่าตัวเองทราบดีว่า...การทดลองอันนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ต้องใส่แว่นตานิรภัยก็ได้....

          นิสิตสามารถหาอ่านเอกสารฉบับเต็มซึ่งบรรยายเหตุการที่เกิดขึ้นโดยProfessor Sharpless เองได้ที่ MITnews website…. http://web.mit.edu/newsoffice/1992/safety-0311.html

                                                                             คณะกรรมการความปลอดภัย ภาควิชาเคมี

กันยายน 2556